วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ระวังโรคมือเท้าปากกันด้วยนะคะ
ถ้าเด็กๆมีอาการผิดปกติ...ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วนด้วยนะคะ

อาการของ โรคมือ เท้า ปาก

       โดยทั่วไป โรคมือ เท้า ปาก มักจะมีอาการไม่รุนแรง โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-6 วัน และมีอาการเริ่มต้นคือ เป็นไข้ต่ำ ๆ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มเจ็บปาก ไม่ยอมทานอาหาร เพราะมีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม โดยตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบแผลจะอักเสบแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น จากนั้นจะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น แขน ขา และอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ในเด็กทารกอาจพบกระจายทั่วตัวได้ ทั้งนี้อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน  7-10 วัน โดยทิ้งรอยแผลเป็นให้เห็น

          อย่างไรก็ตาม โรคมือ เท้า ปาก อาจแสดงอาการในหลายระบบ เช่น

          1.ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ มีน้ำมูกใส เจ็บคอ

          2.ทางผิวหนัง

          3.ทางระบบประสาท เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ

          4.ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำเล็กน้อย ปวดหัว อาเจียน

          5.ทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ (chemosis and conjuntivitis) และ

          6.ทางหัวใจ เช่น สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง


          ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเกิดผื่น ตุ่ม ที่มือ เท้า และปากนานเกิน 3 วัน แล้วยังมีอาการซึมตามมาด้วย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการซึมเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เชื้อกำลังเข้าสู่สมองแล้ว และหากปล่อยไว้ไม่ยอมมารักษา เชื้อจะเข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ จนทำให้หัวใจล้มเหลว และเกิดน้ำท่วมปอดจนเสียชีวิตได้


การรักษา โรคมือ เท้า ปาก

          ปกติแล้วโรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงต้องใช้ภูมิคุ้มกันของตัวเองต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งนี้ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทั้งนี้ ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ให้อาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำและผลไม้ และนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวดนม

          หลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิดโรคมือ เท้า ปาก ซ้ำได้ จาก เอนเทอโรไวรัสตัวอื่น ๆ ดังนั้น หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกมีอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า ก็ควรพาบุตรหลานมาพบแพทย์ 


การป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

          ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก แต่โดยปกติป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้ โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

          ที่สำคัญ คือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน

          หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค  โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน 
ช่วยกันดูแลด้วยนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น